โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคกลีบกุหลาบ (Pityriasis Rosea)

โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคผื่นขุยกุหลาบ กลีบกุหลาบ (Pityriasis Rosea)

โรคผื่นขุยกุหลาบ คืออะไร

โรคผื่นขุยกุหลาบ หรือโรคกลีบกุหลาบ (Pityriasis Rosea) คือโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ที่มีผื่นผิวหนังสีชมพู หรือแดงอ่อนๆ และมีขุยที่ผื่น ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าโรคผื่นขุยกุหลาบ และผื่นของโรคนี้จะมีอาการประมาณ 100 วัน จึงมีอีกชื่อที่เรียกว่า โรคผื่นร้อยวัน

โรคผื่นขุยกุหลาบ เกิดจากอะไร

ในปัจจุบันโรคชนิดนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยสันนิษฐานว่าเป็นการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อภาวะติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อไวรัสกลุ่ม HHV 7 (Human herpes virus 7) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นขุยกุหลาบได้ เช่น ยาลดความดันกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACEI), ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Metronidazole, ยารักษาสิวกลุ่ม Isotretinoin, ยารักษาโรคกระเพราะ Omeprazole เป็นต้น

โรคผื่นขุยกุหลาบ เป็นโรคติดต่อกันได้ไหม

โรคผื่นขุยกุหลาบไม่ใช่โรคติดต่อ โดยผื่นชนิดนี้จะไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคได้

อาการของโรคผื่นขุยกุหลาบ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆนำมาก่อน เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ และปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจึงเริ่มมีผื่นขึ้น โดยแบ่งอาการของผื่นออกได้เป็น 2 ระยะ คือ

โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ

อาการของโรคผื่นขุยกุหลาบ ผื่นกลีบกุหลาบ

1.อาการผื่นขุยกุหลาบ ระยะปฐมภูมิ (ระยะเริ่มต้น)

ในช่วงเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีผื่นสีชมพูหรือสีแดง รูปร่างค่อนข้างกลมหรือเป็นวงรี และมีขุยล้อมรอบผื่น เห็นลักษณะเป็นปื้นใหญ่โดดๆ ขนาด 2-10 เซนติเมตร บริเวณหลัง หน้าอก ใบหน้า คอ หรือต้นแขนก็ได้ โดยอาจเรียกผื่นปฐมภูมินี้ว่า ผื่นแจ้งโรค หรือผื่นแจ้งข่าว (Herald Patch)

2.อาการผื่นขุยกุหลาบ ระยะแพร่กระจาย

ในช่วงต่อมาหลังจากที่เกิดผื่นปฐมภูมิแล้ว ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ผู้ป่วยจะเกิดผื่นเป็นขุยเล็กๆ สีชมพูขนาด 0.5-1.5 เซนติเมตร แพร่กระจายบริเวณหน้าอก หน้าท้อง หลัง คอ ต้นขาและต้นแขน ซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นนั้นมักมีลักษณะตามแนวรอยพับของผิวหนังคล้ายต้นคริสต์มาส จึงมีชื่อเรียกว่า Christmas Tree Distribution แต่มักไม่พบผื่นนี้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และใบหน้า

การวินิจฉัยโรคผื่นขุยกุหลาบ

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติ และตรวจร่างกายเพื่อดูลักษณะผื่นที่ผิวหนัง แต่ถ้าแพทย์มีการสงสัยบางโรคที่มีลักษณะผื่นใกล้เคียงกัน อาจจะมีการส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น การขูดเนื้อเยื่อที่ผิวหนังเพื่อไปตรวจดูเรื่องการติดเชื้อรา, การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิส, และในบางกรณีอาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อที่ผิวหนัง เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

การรักษาโรคผื่นขุยกุหลาบ

การใช้ยารักษาโรคผื่นขุยกุหลาบ

  • ยารับประทานแก้แพ้ กลุ่ม Antihistamine ใช้เพื่อลดอาการแพ้ และอาการคันที่ผิวหนัง
  • ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลุ่ม Macrolide
  • ครีมบำรุงผิว (Moisturizer) ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวบริเวณที่เกิดผื่น
  • ยาทาในกลุ่ม Steroid ใช้เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง
  • และในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจต้องรับการรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB Light Therapy) เพื่อช่วยให้อาการของโรคทุเลาลง

การดูแลตัวเองสำหรับโรคผื่นขุยกุหลาบ

  • อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยน และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • หลีกเลี่ยงการเกาผื่น ถูผื่นแรงๆ และตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการเกา
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และไม่ก่อให้เกิดการเสียดสีระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน เพราะสภาพอากาศที่อบอ้าว และการมีเหงื่อออกมากอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
  • นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเองว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้นๆ เช่น ยาบางชนิด, อาหาร, เครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง, เหงื่อ, และสิ่งแวดล้อม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคผื่นขุยกุหลาบ

โดยทั่วไปโรคผื่นขุยกุหลาบมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่หากมีการเกา หรือขัดถูมากเกินไป อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนังได้ นอกจากนี้หากผู้ป่วยได้รับการรักษาผิดวิธี ก็อาจทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง หรือมีผื่นเห่อมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนผู้ป่วยที่มีผิวสีคล้ำอาจมีจุดสีน้ำตาลเกิดขึ้นหลังอาการผื่นยุบหายดีแล้ว

การป้องกันโรคผื่นขุยกุหลาบ

ถึงแม้ว่าโรคผื่นขุยกุหลาบยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างแน่ชัด แต่ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลตนเองขณะเป็นผื่น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพื่อช่วยระบายความร้อนได้ดี และไม่ก่อให้เกิดการเสียดสีระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • อาบน้ำด้วยน้ำเย็น และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • หมั่นทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิว เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
  • สังเกตการใช้ชีวิตประจำวันว่า มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นหรือก่อการระคายเคืองต่อผิว (รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม) เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น

การป้องกันโรคผื่นขุยกุหลาบเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

โดยทั่วไปเมื่อเป็นโรคผื่นขุยกุหลาบแล้ว มักไม่ค่อยกลับมาเป็นซ้ำอีก เนื่องจากโรคนี้ เป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเคยเป็นครั้งหนึ่งแล้ว ร่างกายมักจะสร้างภูมิคุ้มกันไว้ ทำให้ไม่เป็นโรคนี้ซ้ำอีก และยังไม่พบว่า มีปัจจัยอะไรที่กระตุ้นให้โรคกลับเป็นซ้ำ

โรคผื่นขุยกุหลาบ โรคกลีบกุหลาบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

เกี่ยวกับเรา แอลซีคลินิก โรคผิวหนัง ผมร่วง ความงาม เลเซอร์

หมอชิน-หมอหลิว แอลซีคลินิก

ผู้แต่ง : นพ.ชินดนัย วิกรัยพัฒน์ และ พญ.ปัทมา ปาประโคน พบ.วท.ม.ตจวิทยา (ผิวหนัง)

(หมอชิน-หมอหลิว) แพทย์ด้านผิวหนัง ประจำแอลซีคลินิก

เอกสารอ้างอิง

ฝากติดตามบทความดีๆเรื่อง โรคผิวหนัง ผมร่วง ผมบาง เล็บ ความงาม เลเซอร์ และการผ่าตัดเล็ก ได้ที่คอลัมน์บทความนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

  1. ขนคุด ผิวเป็นหนังไก่ (Keratosis Pilaris) คืออะไร รักษายังไงดีน่าา
  2. สาเหตุ 9 อย่างที่ก่อให้เกิดสิว ที่พบได้บ่อยมากๆ
  3. สิวที่หน้า ฉบับจัดเต็ม โดยทีมแพทย์ด้านผิวหนัง
  4. สิวที่ตัว สิวที่หลัง เกิดจากอะไร รักษายังไงดีน่า

บทความโดยผู้เชี่ยวชาญ ◆


ติดต่อเรา ✿

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แอลซีคลินิกทุกสาขา

Facebook : LC Clinic

Line id : lcclinic

Website : www.lcclinics.com

แอลซีคลินิก โรคผิวหนัง ความงาม เลเซอร์

Posted in บทความ โรคผิวหนัง, โรคผิวหนัง ผมร่วง เล็บ and tagged , , , , , , , , , .